ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก จริงหรือไม่ ?
จากการที่ นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Banyong Pongpanich เปิดเผยข้อมูล เรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับ 1 ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก โดยอ้างอิงข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 ที่ออกมาเมื่อเดือนตุลาคม เรื่องนี้คุณคิดว่าจริงหรือไม่ ?
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะมีการจำกัดความและข้อมูล และมีการบิดเบือน
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ออกมาชี้แจงว่า ตามที่ได้มีการให้ข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก โดยอ้างอิงข้อมูลจาก CS Global Wealth Report 2018 นั้น พบว่า ข้อมูลที่ CS Global Wealth Report 2018 นำมาใช้คำนวณ เป็นการใช้ข้อมูลค่าดัชนีกระจายความมั่งคั่ง โดยในตัวรายงานใช้ข้อมูลการถือครองความมั่งคั่ง ซึ่งระบุว่ามีข้อมูลของประเทศที่สมบูรณ์ 35 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน
โดยในส่วนของไทยนั้นข้อมูลการวัดการกระจายความมั่งคั่งไม่มีการจัดเก็บ เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว จำเป็นต้องมีความชัดเจนของคำจำกัดความและข้อมูลข้อเท็จจริงของสินทรัพย์ที่มีความชัดเจน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ในส่วนของประเทศไทย ผู้จัดทำรายงานใช้การประมาณการทางเศรษฐมิติ บนสมมติฐานว่า การกระจายความมั่งคั่งมีความสัมพันธ์กับการกระจายรายได้ ซึ่งการคำนวณในลักษณะดังกล่าวในรายงานระบุไว้ชัดเจนว่า การประมาณการการวัดการกระจายความมั่งคั่งของ 133 ประเทศ ที่นอกเหนือจาก 35 ประเทศที่มีข้อมูลสมบูรณ์ เป็นการประมาณการอย่างหยาบ สำหรับประเทศที่มีข้อมูลการกระจายรายได้ แต่ไม่มีข้อมูลการถือครองความมั่งคั่ง อย่างประเทศไทยจึงถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 133 ประเทศที่ไม่มีข้อมูลการถือครองความมั่งคั่งแต่มีข้อมูลการกระจายรายได้
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า CS Global Wealth Report 2018 นำข้อมูลที่จัดเก็บมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้อีกอย่างมาเข้าวิธีการคำนวณเพื่อใช้วิเคราะห์อีกอย่าง ซึ่งเป็นฐานข้อมูลคนละแบบ นอกจากนี้ข้อมูลที่ CS Global Wealth Report 2018 นำมาใช้ในการคำนวณยังเป็นข้อมูลสำรวจรายได้รายจ่ายของไทยปี 2549 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างนานมาก
จากรายงานของธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์) ปีล่าสุด คือปี 2558 (ปี 2560 ยังไม่มีรายงาน) พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 67 ประเทศ ซึ่งปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นลำดับของความเหลื่อมล้ำของประเทศต่างๆ ส่วนในปี 2556 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46 จาก 73 ประเทศ ทั้งนี้จำนวนประเทศที่ไม่เท่ากันเนื่องจากธนาคารโลกจะใช้ข้อมูลที่สมบูรณ์ในแต่ละปี ถ้าประเทศไหนไม่มีข้อมูลก็จะไม่นำมาเปรียบเทียบ
ทั้งนี้ ปี 2558 ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา อยู่ที่ 51.3 หรือ 0.513 ส่วนไทยจะอยู่ที่ 0.36 ถ้าเปรียบเทียบกับอังกฤษ อยู่ที่ 0.33 อันดับที่ 30 ส่วนอเมริกาข้อมูลปี 2559 อยู่ที่ 0.41 ดังนั้นตัวเลขของไทยไม่แตกต่างจากประเทศอื่นมากนัก ประเทศไทยจึงไม่ได้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดอย่างที่เป็นข่าว
ที่ผ่านมาการวัดสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยจะใช้วิธีการวัดตามมาตรฐานของธนาคารโลก โดยการวัดจาก GINI Coefficient Index ซึ่งธนาคารโลกใช้ในการวัดความเหลื่อมล้ำในประเทศต่างๆ ประมาณ 110 ประเทศ ในกรณีของประเทศไทยข้อมูลที่ใช้ในการทำ GINI Coefficient Index เป็นการสำรวจจริง ของสำนักงานสถิติแห่งชาติเรียกว่า ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและครัวเรือน ปัจจุบันปี 2560 ประเทศไทยมีค่า GINI Coefficient Index ในส่วนของรายได้อยู่ที่ 0.453 หรือ 45.3 % ถ้าเปรียบเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2550 ประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น โดยปี 2550 อยู่ที่ 0.499
ส่วนค่า GINI Coefficient Index ในส่วนของรายจ่าย ปี 2560 ไทยอยู่ที่ 0.364 หรือ 36.4 % เทียบปี 2550 อยู่ที่ 0.398 ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในฝั่งของรายได้และรายจ่ายของไทยลดลงเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์เรื่องความเหลื่อมล้ำของไทยปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ สถานการณ์ด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด มีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่องลดลงจาก 25.10 เท่า ในปี 2550 เป็น 19.29 เท่า ในปี 2560 และความแตกต่างของรายจ่ายระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายสูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายน้อยที่สุด มีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 11.70 เท่าในปี 2551 เป็น 9.32 เท่าในปี 2560
สรุป ประเทศไทยไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก อย่างที่มีข้อมูลระบุในสื่อสังคมออนไลน์ และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำของไทยปรับตัวดีขึ้น