“ประยุทธ์” เป็นรัฐบาลแรกที่แจกเงินประชาชน จริงหรือไม่ ?
“ประยุทธ์” เป็นรัฐบาลแรกที่แจกเงินประชาชน จริงหรือไม่ ?
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 พ.ย.61 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 4 มาตรการ โดยหนึ่งในนั้นคือ ให้เงิน 500 บาทกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมดจำนวน 14.5 ล้านคน โดยจะเติมเงินให้ระหว่างเดือน ธ.ค. 2561- ม.ค.2562 เพื่อใช้จ่ายเพิ่มเติม รวมเป็นวงเงิน 7,250 ล้านบาท ซึ่งมีข้อถกเถียงกันว่า รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลแรกที่แจกเงินให้ประชาชน
จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่รัฐบาลแรกที่มีนโยบายแจกเงินให้กับประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ย้อนกลับไปปี พ.ศ.2552 สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้ ภายใต้ชื่อ “เช็คช่วยชาติ” มูลค่า 2,000 บาท เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะหดตัว เนื่องจากประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย โดยรัฐบาลได้มีการลงนามกับภาคเอกชนเพื่อร่วมโครงการเพิ่มมูลค่าเช็คช่วยชาติและลดราคาสินค้า รวมถึงสามารถทอนเป็นเงินสดได้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการใช้จ่ายให้เกิดหมุนเวียนในระบบ
สำหรับโครงการเช็คช่วยชาติ รัฐบาลอภิสิทธิ์แบ่งการจ่ายเช็คเป็น 3 กลุ่ม รวม 9.7 ล้านราย คือ 1. กลุ่มผู้ประกันตน 8.1 ล้านราย ได้แก่ ผู้ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมที่มีเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท และผู้ประกันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกโดยสมัครใจ และอยู่ระหว่างได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานในอัตรา 50% ของเงินเดือนเป็นเวลา 8 เดือน 2. กลุ่มข้าราชการเบี้ยหวัดบำนาญ 2.3 แสนราย 3. บุคลากรภาครัฐ 1.4 ล้านราย โดยผู้ได้เช็คในขณะนั้น สามารถเลือกใช้เช็คได้ใน 2 แนวทาง คือ 1. นำเช็คไปใช้จ่ายในร้านค้าที่ให้บริการ และ 2. นำเช็คมาขึ้นเป็นเงินสดได้ที่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งใช้งบประมาณทั้งหมด 1.6 หมื่นล้านบาท
ส่วนพรรคเพื่อไทย แม้โจมตีนโยบายแจกเงิน เป็นนโยบายที่สิ้นคิด แต่ในท้ายที่สุดพรรคพลังประชาชน ที่ต่อมาแปลงสภาพเป็นพรรคเพื่อไทย ก็เคยนำนโยบายแจกเงินมาใช้ คือ การแจกคูปองช่วยค่าครองชีพให้คนจน ที่จะใช้งบประมาณมากถึง 4.8 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551 แต่ถูกโจมตีหนักจนนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้เปลี่ยนนโยบาย มาเป็น 6 มาตรการ 6 เดือน ที่มีรถเมล์ฟรี ค่าน้ำฟรี ค่าไฟฟรี ซึ่งรวมทุกมาตรการแล้ว เท่ากับว่ารัฐบาลใช้งบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท
ส่วนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่มีนโยบายแจกเงินโดยตรง แต่ได้ใช้นโยบายประชานิยมต่างๆ แทน เช่น ตรึงค่าไฟและให้ใช้ไฟฟรี โดยให้ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำเงินที่เคยขออนุมัติลงทุนไว้ แต่ยังไม่ได้ลงทุน รวม 7,000 ล้านบาท กลับมาใช้ในการดูแลค่าเอฟที ทำให้ค่าเอฟทีเป็น 0 บาทต่อหน่วย เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ รวมทั้งต่ออายุมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรีแก่ผู้มีรายได้น้อยโดยลดการอุดหนุนเหลือ 50 หน่วย จากเดิม 90 หน่วย เอาใจผู้มีรายได้น้อย 4 ล้านครัวเรือน รวมทั้งต่ออายุมาตรการรถไฟ-รถเมล์ฟรี โดย ครม.จ่ายเงินชดเชยแก่ ขสมก.เดือนละ 300 ล้านบาท และรถไฟเดือนละกว่า 60 ล้านบาท
ดังนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่ใช่รัฐบาลแรกที่แจกเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ